วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2562

ระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย


ภาพจาก : https://s3.amazonaws.com/user-media.venngage.com/314475-f1139cb852be185b9be2cdffe4487a51.jpg
   ปกติแล้วร่างกายของคนเราได้รับสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายอยู่เป็นประจำทุกวัน อาทิ เแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา สารเคมี ฝุ่นละออง ที่เจือปนอยู่ในอากาศ อาหาร และน้ำดื่มสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้จะเรียกว่า แอนติเจน (Antigen) สิ่งแปลกปลอมอาจเข้าสู่ร่างกายโดยทางระบบหายใจ ผิวหนัง ระบบหมุนเวียนโลหิต หรือระบบย่อยอาหาร เมื่อร่างกายได้รับสิ่งแปลกปลอมเข้าไป ก็อาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยและโรคภัยต่าง ๆ ได้ ดังนั้น ร่างกายจึงต้องมีกลไกเเพื่อป้องกัน กำจัด หรือทำลายสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นออกจากร่างกาย เช่น การสร้างสารคัดหลั่งต่าง ๆ ที่มีฤทธิ์ทำลายแบคทีเรีย กรดแลกติกที่ถูกขับออกมาทางผิวหนังเพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย หรือแม้แต่ขนจมูกและน้ำเมือกในระบบทางเดินหายใจ สิ่งเหล่านี้จะทำหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมในเบื้องต้น แต่ถ้าหากสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายยังถูกกำจัดหรือทำลายไม่หมด ร่างกายจะมีกลไกอีกหนึ่งอย่างซึ่งทำหน้าที่กำจัดและทำลายสิ่งแปลกปลอมโดยเซลล์พิเศษที่เรียกว่า ฟาโกไซต์ ตัวอย่างเช่น เซลล์เม็ดเลือดขาวในกระแสเลือด จะทำหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมโดยผ่านกระบวนการ ฟาโกไซโทซิส (Phagocytosis)

   ในกรณีที่ไม่สามารถกำจัด หรือทำลายสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากด้วยกระบวนการ ฟาโกไซโทซิส ได้ทั้งหมด ร่างกายจะสร้างกลไกที่ซับซ้อนขึ้นมาเพื่อทำลายสิ่งแปลกปลอมนั้น ๆ ที่เป็นอันตรายกับร่างกาย เรียกกลไกที่ซับซ้อนนี้ว่า ระบบภูมิคุ้มกัน (Immune system) ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันเป็นกระบวนการของร่างกายที่จะสร้างโมเลกุลโปรตีนที่มีความจำเพาะที่เรียกว่า แอนติบอดี (Antibody) ซึ่งมีหน้าที่กำจัดและทำลายสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกายอย่างจำเพาะกับชนิด และเรียกสิ่งแปลกปลอมที่มีความสามารถในการกระตุ้นการตอบสนองของร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันว่า แอนติเจน (Antigen) โมเลกุลของแอนติบอดีที่เกิดขึ้นในร่างกายจะทำปฏิกิริยาเคมีเฉพาะกับแอนติเจน หรือสารที่มีคุณสมบัติเป็นแอนติเจน จะเกิดขึ้นบริเวณตำแหน่งบนผิวแอนติเจนที่สามารถทำปฏิกิริยาเฉพาะเจาะจงกับแอนติบอดีชนิดนั้นเรียกว่า Antigenic Determinant ซึ่งตำแหน่งนี้มีรูปร่างหรือโครงสร้างที่แตกต่างกันไป จึงทำให้แอนติเจนสามารถทำปฏิกิริยากับแอนติบอดีได้หลายชนิดและหลายโมเลกุล ทำให้ร่างกายของเรามีภูมิคุ้มกัน และสามารถต่อต้าน กำจัด และทำลายสิ่งแปลกปลอม สารเคมี และเชื้อโรคต่างๆได้

แหล่งที่มาข้อมูล : https://ketmaneenutsima.wordpress.com/
รศ. ดร.วิทยา ยศยิ่งยวด. การป้องกันตนเองของร่างกายและระบบภูมิคุ้มกัน. คู่มือการสอนชีววิทยา. คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

เรียบเรียงโดย : นางสาวภัทราพร แสนเทพ

วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2562

สารอันตราย




พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. สนธิกำลังสาธารณสุข จ.เชียงราย เข้าค้นพื้นที่เป้าหมายที่คาดเป็นแหล่งเก็บสาร “ไซบูทรามีน” ต้นตอผลิตยาลดความอ้วนมรณะ ภายในตึกแถวข้างตลาดสดบุญยืน ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย พร้อมพื้นที่อื่นรวม 12 จุด ยึดสารเคมีสีขาวที่คาดว่าเป็นสารอันตรายนำไปตรวจสอบ
ที่มา .www.thairath.co.th


วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ค่า SPF และ PA ในสารกันแดดคืออะไร?




“แดดเมืองไทยนี่มันช่างทำร้ายกันเสียเหลือเกิน ไหนจะต้องใส่แขนยาวทั้งที่อากาศก็ร้อน ไหนจะต้องใส่หมวกถือร่มอีก แล้ววันนี้จะไปเลือกซื้อครีมกันแดดด้วย แต่ค่า SPF กับ PA ที่โฆษณาคืออะไรนะ? ต้องใช้ที่มีค่าสูง ๆ ไว้ก่อนถึงจะดีหรือเปล่า? ” วันนี้เรามีคำตอบมาให้ค่ะ

   ฉลากบนผลิตภัณฑ์กันแดดส่วนมากจะระบุค่า SPF กับ PA ไว้หลากหลายแบบ เพื่อให้เราเลือกใช้ให้ตรงกับความต้องการ โดย SPF หรือ Sun Protection Factor เป็นค่าการป้องกัน UVB ที่บอกให้ทราบว่า เราจะอยู่กลางแสงแดดได้นานเท่าใดโดยที่ผิวของเราไม่ไหม้ หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด ๆ เช่น ถ้าเราอยู่กลางแสงแดด 10 นาที แล้วผิวของเราเริ่มแดงไหม้ นั่นคือผิวเราทนได้แค่ 10 นาที หากทากันแดดที่มี SPF15 ผิวเราจะทนแดดได้นาน 10x15 = 150 นาที หรือประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง โดยที่ผิวไม่แดงไหม้นั่นเอง และหากจะเทียบค่า SPF กับปริมาณการดูดซับรังสี UVB พบว่า

ค่า SPF เท่ากับ 2 จะดูดซับ UVB ได้ 50%
ค่า SPF เท่ากับ 4 จะดูดซับ UVB ได้ 75%
ค่า SPF เท่ากับ 8 จะดูดซับ UVB ได้ 87.5%
ค่า SPF เท่ากับ 15 จะดูดซับ UVB ได้ 93.3%
ค่า SPF เท่ากับ 20 จะดูดซับ UVB ได้ 95%
ค่า SPF เท่ากับ 30 จะดูดซับ UVB ได้ 96.7%
ค่า SPF เท่ากับ 45 จะดูดซับ UVB ได้ 97.8%
ค่า SPF เท่ากับ 50 จะดูดซับ UVB ได้ 98%
   จะเห็นว่า ค่า SPF ที่สูงมาก ๆ นั้นก็ไม่จำเป็นต่อความต้องการของเรา ไม่ว่าจะใช้ SPF30 หรือ SPF100 ก็ให้ผลแทบจะไม่แตกต่างกัน แต่ถึงอย่างไรแล้ว เมื่อสารกันแดดสัมผัสเหงื่อ น้ำ แสงแดด ฯลฯ สารกันแดดก็จะเสื่อมประสิทธิภาพลงทำให้เราต้องทาซ้ำ แถมยังต้องเสี่ยงกับอาการแพ้และความเหนอะหนะจากสารกันแดดที่มีค่า SPF สูงมาก ๆ อีกด้วย

   มาทำความรู้จักกันต่อกับค่า PA หรือ Protection grade of UVA เป็นค่าการป้องกัน UVA ริเริ่มโดยสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องสำอางประเทศญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 2006 โดยมีประสิทธิภาพดังต่อไปนี้
PA+ หมายถึง มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA เริ่มต้น
PA++ หมายถึง มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA กลาง
PA+++ หมายถึง มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA สูง
PA++++ หมายถึง มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA สูงสุด



ภาพจาก: https://www.facebook.com/notes/1611878672358933

   นอกจากค่า SPF กับ PA แล้ว ต้องคำนึงถึงกิจกรรมที่เราจะทำด้วย ถ้าจะออกไปเล่นน้ำทะเลหรือทำกิจกรรมทางน้ำ ควรเลือกสารกันแดดแบบ Waterproof ที่จะรักษาค่า SPF ไว้ให้คงประสิทธิภาพเดิมหลังโดนน้ำไป 80 นาที หากว่าเราแค่โดนฝนหรือเหงื่อออกตามปกตินั้น ให้เลือกสารกันแดดแบบ Water-resistant ที่จะรักษาค่า SPF ไว้ให้คงประสิทธิภาพเดิมหลังโดนน้ำไป 40 นาที และที่กล่าวมานี้ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ฉลากบนบรรจุภัณฑ์สารกันแดดบอกให้ผู้ใช้ทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง

   จากข้อมูลทั้งหมด หลาย ๆ คนคงตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์กันแดดได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี การเลือกผลิตภัณฑ์กันแดดควรเลือกให้เหมาะสมกับความจำเป็น สภาพผิว รวมถึงสภาพอากาศและกิจกรรมที่เราจะทำด้วย เพื่อประสิทธิภาพที่เพียงพอต่อความจำเป็นทั้งตัวคุณและกระเป๋าเงินของคุณด้วยนั่นเองค่ะ

ที่มา: http://www.mfu.ac.th/school/anti-aging/admin/uploadCMS/research/pfWed125811.pdf
https://en.wikipedia.org/wiki/Sunscreen
เรียบเรียงโดย: ณัฐสุดา จันทร์พฤกษา
แหล่งอ้างอิง http://www.nsm.or.th

วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2562

5G คืออะไร??

   

     ในกระแสโลกปัจจุบันนี้เราก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการสื่อสาร ระบบเครือข่าย รวมทั้งสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยระบบอินเทอร์เน็ตทั้งสิ้น ยุคนี้คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้แทบทุกคน เทคโนโลยีการเชื่อมต่อในปัจจุบันที่ได้รับความนิยมคือ 4G และอนาคตอันใกล้นี้ ก็จะพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นคือ 5G แล้วเทคโนโลยี 5G คืออะไร?
     ก่อนที่จะไปรู้จักเทคโนโลยี 5G เรามาทำความรู้จักเทคโนโลยีตั้งแต่ 1G จนถึง 4G กันก่อนว่ามีอะไรบ้างและขอบเขตในการใช้งานเป็นอย่างไร
          - 1G ชื่อนี้อาจจะไม่ค่อยได้ยินกันสักเท่าไหร่ แต่ถ้ากล่าวถึง โทรศัพท์มือถือขนาดใหญ่เหมือนกระติกน้ำ ก็คงพอจะได้คุ้นหูคุ้นตากันบ้าง ด้วย เทคโนโลยีนี้สามารถทำให้เราได้ยินเสียงและสนทนาในระยะไกลได้
          - 2G สำหรับยุคนี้ นอกจากเราจะสามารถสนทนากันด้วยเสียงได้แล้ว เรายังสามารถส่งข้อความสั้นๆ หากัน หรือที่เรียกกันว่า SMS ที่เพิ่มมาจากยุค1G
          - 3G ยุคนี้เทคโนโลยีก็มีการพัฒนาจนทำให้เราสามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ใช้งานเว็บไซต์ ดูวีดีโอสตรีมมิ่งได้แล้ว แต่มีความเร็วไม่มากนัก
          - 4G ยุคนี้ถือเป็นยุคที่คนใช้อินเตอร์เน็ตกันอย่างจริงจัง ทั้งในการทำงานและการดำรงชีวิต เราติดตามข่าวสารกันบนโลกออนไลน์ ดูหนังฟังเพลง ทำธุรกรรมทางการเงิน ซื้อสินค้าออนไลน์ และอื่นๆ
     แต่อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี 4G ก็อาจช้าเกินไปสำหรับอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากข้อจำกัดหลายอย่างของเทคโนโลยีเองจึงทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่อย่าง 5G ขึ้นมา โดยเทคโนโลยีนี้มีความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงกว่า 4G ถึง 20 เท่า โดยประมาณ (4G = มีความเร็วสูงสุดที่ประมาณ 1Gbps ส่วน 5G อยู่ที่ประมาณ 20 Gbps) รองรับการเชื่อมต่อทุกสรรพสิ่ง หรือ IOT (Internet of Things) รวมถึงความเร็วในการตอบสนอง (Response Time) จากเดิม 4G ใช้เวลาอยู่ที่ 40ms แต่ 5G จะเหลือเพียง 1ms เท่านั้น หากจะพูดถึงการดาวน์โหลดหนัง 1 เรื่อง ใช้ 4G ดาวน์โหลดอาจใช้เวลาประมาณ 6 นาที แต่ถ้าใช้ 5G โหลดหนังทั้งเรื่องก็อาจจะเหลือเพียง 17-18 วินาที เท่านั้น
     แล้วเทคโนโลยี 5G ส่งผลต่อชีวิตประจำวันของเราอย่างไร? แน่นอนว่าประสิทธิภาพของเทคโนโลยี 5G มีความเร็วในการดาวน์โหลดและอัปโหลดข้อมูลมากกว่า 4G ทำให้การดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมส์ ท่องโลกอินเทอร์เน็ต ไม่มีสะดุด แม้แต่วีดีโอที่มีความละเอียดสูงๆ หรือเป็นอุปกรณ์ IoT ที่ทำงานร่วมกันกับ 5G รวมถึงเรื่องของรถยนต์ไร้คนขับ (Self-Driving Car) นี่ยังไม่พูดถึง Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) ถ้าเราดูหนังหรือเล่นเกมผ่านอุปกรณ์ VR แล้วใช้ 5G เราก็จะได้รับประสบการณ์ที่เหนือกว่าในเรื่อง ความรวดเร็ว ไม่มีการหน่วงเวลา

แหล่งข้อมูลค้นคว้าและภาพจาก: https://www.marketingoops.com/reports/understand-what-is-5g/
แหล่งอ้างอิง http://www.nsm.or.th

วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2562

บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ทั่วไปจริงหรือ

วันงดสูบบุหรี่โลกตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี องค์การอนามัยโลกเล็งเห็นถึงอันตรายจากการสูบบุหรี่ เพราะนอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้สูบแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อผู้ที่อยู่ใกล้เคียงที่จะได้รับควันบุหรี่จากคนที่สูบทางอ้อม ก่อให้เกิดโรคร้ายเหมือนสูบบุหรี่เองโดยตรงได้อีกด้วย ปกติแล้วเราคงคุ้นเคยกับบุหรี่ธรรมดากันมานานมากแล้ว แต่ในปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้ากันมากขึ้น ด้วยกลไกการทำงานที่ไม่มีกระบวนการเผาไหม้เหมือนบุหรี่ทั่วไป ทำให้ผู้สูบลดความเสี่ยงที่จะได้รับสารที่เป็นอันตรายจากการเผาไหม้บางตัวเช่น น้ำมันดินหรือทาร์ (Tar) และคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง และโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ


     บุหรี่ไฟฟ้า คือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดหนึ่งซึ่งใช้แบตเตอรี่ในการทำงานเพื่อสร้างความร้อนและไอน้ำ ประกอบด้วยสารต่าง ๆ เช่น นิโคติน (Nicotine) โพรไพลีนไกลคอล (Propylene Glycol) กลีเซอรีน (Glycerine) สารแต่งกลิ่นและรส (Flavoring) และน้ำ เมื่อเปิดเครื่องจะมีไฟสีแดงขึ้นพร้อมกับการทำงานของแบตเตอรี่ เกิดความร้อน ทำให้น้ำยาที่บรรจุอยู่ภายในระเหยขึ้นมาเป็นควัน เมื่อสูบเข้าไปในปอดร่างกายจะได้รับนิโคตินก่อนที่จะถูกพ่นออกมา สารเคมีชนิดต่างๆ ที่พบในน้ำยาสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น นิโคติน เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เพิ่มความดันโลหิต เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด และโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เมื่อสัมผัสหรือสูดดม สารโพรไพลีนไกลคอลและกลีเซอรีน เข้าไปอาจทำให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง ดวงตา และปอดได้ โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด และโรคถุงลมโป่งพอง นอกจากนี้ ยังพบสารพิษอีกมากมายในไอของบุหรี่ไฟฟ้าที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น โลหะหนัก สารหนู สารกลุ่มฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) และกลุ่มเบนซีน (Benzene) เป็นต้น

     แม้ว่าสารพิษที่พบในไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าจะมีน้อยกว่าในควันบุหรี่ธรรมดาทั่วไป แต่บุหรี่ไฟฟ้าก็ยังคงมีสารเคมีที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพและทำให้เกิดการเสพติดได้เหมือนกับบุหรี่ธรรมดาทั่วไปเช่นกัน ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย และการมีสุขภาพที่ดีอย่างแท้จริง เราจึงควรงดสูบบุหรี่ทุกประเภท เพราะนอกจากจะช่วยลดโรคร้ายที่เกิดจากการสูบบุหรี่แล้ว ยังช่วยให้คนรอบข้างและบุคคลที่คุณรักปลอดภัยจากพิษภัยของบุหรี่อีกด้วย




คำค้น : บุหรี่ไฟฟ้า, นิโคติน, วันงดสูบบุหรี่โลก
ผู้เขียน : นายชนินทร์ สาริกภูติ
บรรณาธิการ (วิชาการ) : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง
แหล่งอ้างอิง http://www.nsm.or.th

ระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย

ภาพจาก :  https://s 3. amazonaws.com/user-media.venngage.com/ 314475- f 1139 cb 852 be 185 b 9 be 2 cdffe 4487 a 51. jpg     ปกติแล้วร...